๑)ทฤษฎีการเสริมแรงของจอห์น ดอลลาร์ด และ นีล อี มิลเลอร์

ทฤษฎีการเสริมสุขภาพจิตเบื้องต้น ๑)ทฤษฎีการเสริมแรงของจอห์น ดอลลาร์ด และ นีล อี มิลเลอร์ (The Reinforcement Theory of John Dollard and Neal E. Miller) จอห์น ดอลลาร์ด เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ในมลรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยของชิคาโก (the University of Chicago) ส่วน นีล อี มิลเลอร์ (Neal E. Miller) เกิดเมื่อ ๓ สิงหาคม ๑๙๐๙ ณ มลรัฐวิสคอนซิล ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับปริญญาเอกทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ทั้ง ดอลลาร์ดและมิลเลอร์ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาการของโรคประสาทในแง่ของการเรียนรู้ โดยเขาทั้งสองพยายามรวมทฤษฎีการเรียนรู้ตามแนวความคิดของฮัลล์ (Hull) ตามแนวความคิดของทฤษฎีจิตวิทยาของฟรอยด์ และตามแนวคิดทางทฤษฎีสังคมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายพัฒนาการของบุคลิกภาพว่า เป็นผลเนื่องมาจากการเรียนรู้โดยเงื่อนไขของสังคม ๑.๑ .กลไกพื้นฐานในการเปลี่ยนพฤติกรรมตามทฤษ.ฎีของการเรียนรู้ มีอยู่ ๒ ประการ ก. ประการที่๑ คือ การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง ซึ่งเป็นผลจากการวางเงื่อนไข ข. ประการที่ ๒ คือ การเรียนรู้จากการเรียนแบบหรือจากการเอาแบบอย่างจากตัวแบบ ๑.๒ องค์ประกอบพื้นฐานของการเรียนรู้ ดอลลาร์ด และ มิลเลอร์เน้นว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากการเรียนรู้ และองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญๆของการเรียนรู้มี ๔ ประการคือ ก. ประการที่ ๑ คือ แรงขับ(Drive) คือพลังที่เร้าหรือผลักดันให้เกิดการกระทำ แรงขับที่สำคัญมี ๒ ประเภทคือ ประเภทแรกคือ แรงขับปฐมภูมิ (Primary Drive) หรือแรงขับที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Innate Drive) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ได้แก่ ความหิว ความกระหาย ความเจ็บปวด ฯลฯ และประการที่สอง คือ แรงขับทุติยภูมิ (Secondary Drive) หรือแรงขับที่เกิดจากการเรียนรู้ (Learned Drive) เป็นแรงขับที่จะมีพลังของแรงขับได้ภายหลังที่มาสัมพันธ์หรือมาวางเงื่อนไขควบคู่กับแรงขับปฐมภูมิในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว ฯลฯ และแม้ว่าแรงขับปฐมภูมิ จะเป็นสิ่งเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนูษย์ แต่แรงขับทุติยภูมิก็มีความสำคัญไม่น้อย เช่น ความต้องการสถานภาพทางสังคม ความมั่งคั่ง อำนาจ ซึ่งความต้องการเหล่านี้มีพลังแรงขับมาก เป็นต้น ข. ประเทที่ ๒ สิ่งบอกแนะ (Cue) เป็นตัวกำหนดว่า บุคคลจะมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อไร ที่ไหน และแบบใด สิ่งบอกแนะหรือสิ่งเร้า (Stimulus) อาจเป็นสิ่งภายนอกตัวบุคคล เช่น น้ำ ฯลฯ หรือเป็นสิ่งภายในตัวบุคคล เช่น ต้องการน้ำ ฯลฯ สิ่งบอกแนะซึ่งมีความรุนแรงต่างกัน อาจจะทำให้เกิดการตอบสนองแตกต่างกัน การตอบสนองของบุคคลจะรุนแรงหรือแตกต่างกันแค่ไหนเพียงใดหรืออย่างไรจะขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้าหรือความแตกต่างของสิ่งเร้า ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ทำหน้าที่เป็นสิ่งบอกแนะให้บุคคลนั้นๆ มีการตอบสนอง ค. ประการที่ ๓ คือ การตอบสนอง (Response) เป็นการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากสิ่งบอกแนะหรือสิ่งเร้า โดยที่สิ่งบอกแนะหรือสิ่งเร้าจะนำไปสู่การตอบสนอง การตอบสนองจะมีลำดับความมากน้อยแตกต่างกัน การตอบสนองที่เด่นหมายถึงการตอบสนองที่อยู่ในอันดับชั้นที่สูงคือ จะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสิ่งเร้าหรือสิ่งบอกแนะนั้นๆ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมครอบคลุมการตอบสนอง โดยปกกันไม่ให้มีปฏิกิริยาการตอบสนองเกิดขึ้น การตอบสนองครั้งต่อไปก็อาจจะถูกทดแทน ตัวอย่าง ในสภาพของโรคประสาทบางชนิด การปิดกั้นอารมณ์เครียด อาจเกินขึ้นเมื่อถูกบังคับให้มีการตอบสนองน้อย ฯลฯ ง. ประการที่ ๔ คือ การเสริมแรง (Reinforcement) หมายถึงสภาพการณ์ใดๆ หรือเหตุการณ์ใดๆ ที่ทำให้ความถี่ที่ตอบสนองของอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้นการเสริมแรงมี ๒ ประเภทคือ ประเภทแรกคือ การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) หมายถึง สภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่งที่มีการเสนอสิ่งเร้าที่มีคุณค่าทางบวก(Positive Stimulus) อย่างต่อเนื่องหรือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเกี่ยวกับสภาพการณ์นั้นๆ ทำให้บุคคลที่ได้รับสิ่งเร้าที่คุณค่าทางบวกนั้น มีแนวโน้มในการตอบสนองบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนั้นเพราะว่าบุคคลนั้นได้รับผลกรรมที่พึงพอใจหลังจากแสดงพฤติกรรมนั้นๆ และประเภทที่สองคือ การเสริมแรงทางลบ (Negative Reinforcement) ซึ่งหมายถึงสภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่งที่มีการนำสิ่งเร้าที่ไม่พึ่งประสงค์ หรือสิ่งเร้าที่มีผลทางลบ (Aversive stimulus) ออกไปจากสภาพการณ์นั้นๆ ผลของการนำสิ่งเร้ที่ไม่พึ่งประสงค์ออกไปจากสภาพการณ์นั้นๆ ก่อให้เกิดความพอใจแก่บุคคลนั้น เพราะได้ขจัดสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์ออกไป และหากบุคคลนั้นๆ ไปพบหรือประสบสถานการณ์นั้นๆ ต่อไปบุคคลนั้นก็มีแนวโน้มที่จะตอบสนอง เพื่อขจัดสิ่งเร้าไม่พึงประสงค์นั้นบ่อยครั้งขึ้น ๑.๓. การเรียนรู้พฤติกรรมวิปลาส ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ อธิบายว่าพฤติกรรมวิปลาสพัฒนามาการเรียนรู้ที่ผิดไม่เหมาะสมบุคคลที่มีอาการวิปลาสทางประสาทจะเป็นบุคคลที่มีความขื่นข่มในชีวิต มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไม่ฉลาด และต้องทนทุกข์อยู่กับอาการต่างๆ เช่นนอนไม่หลับ หงุดหงิด รำคาญ สงบจิตใจไม่ได้ ไม่พึงพอใจในชีวิต ไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน มีการเก็บกดทางเพศ ปวดศีรษะ เป็นต้น อาการต่างๆ เหล่านี้ แม้จะทำให้บุคคลนั้นต้องมีอาการทนทุกข์ แต่ที่จริงแล้ว อาการเหล่านี้ช่วยลดความขัดแย้งในใจของบุคคลนั้นได้ เช่น การปวดศีรษะหรือหงุดหงิด แม้จะทำให้ไม่สบาย แต่ก็อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงเหตูการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในใจได้ ฉะนั้นอาการวิปลาสต่างๆ ที่ปรากฏหรือเกิดขึ้น ถูกเสริมแรงเพราะช่วยลดความขัดแย้งในใจของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นเรียนรู้เป็นนิสัยในการแสดงออก ดอลลาร์ด และ มิลเลอร์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่ทำให้เกิดอาการวิปลาสทางประสาทคือ ความขัดแย้งในใจที่รุนแรง ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า บุคคลที่มีอาการวิปลาสทางประสาท มักจะเป็นบุคคลที่ไม่สามารถแก้ความขัดแย้งของตนเองได้ เนื่องจากมองไม่เห็นความขัดแย้งที่กระจ่างชัด อีกทั้งบุคคลนั้นจะเก็บความรู้สึกที่เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงคือปัญหาอะไร อีกทั้งยังมีวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ฉลาด จึงทำให้ไม่สามารถจะสนุกสนานกับชีวิตได้ แต่บุคคลนั้นๆ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ แต่ไม่ปกตินัก นอกจากนี้ ดอลลาร์ด และ มิลเลอร์เชื่อว่า ก. พฤติกรรมวิปลาสทางประสาท เป็นผลของประสบการณ์มากกว่าเรื่องสัญชาตญาณหรือความบกพร่องทางร่างกาย เพราะฉะนั้น พฤติกรรมวิปลาสทางประสาทหรือโรคประสาทจึงเกิดการเรียนรู้ ข. พฤติกรรมวิปลาสทางประสาท มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งทางอารมณ์ในจิตใต้สำนึก ซึ่งมักจะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเด็กจะเรียนเกี่ยวกับความขัดแย้งมาจากบิดามารดา การเลี้ยงดูของบิดามารดา ตลอดทั้งการฝึกอบรมของบิดามารดา ค.สภาพบรรยากาศ วิธีการและแบบแผนของการอบรมเลี้ยงดูที่เร่งรีบไม่เป็นมิตร เข้มงวด และก่อให้เกิดความกลัวและหวาดหวั่นแก่เด็ก ฯลฯ จะนำไปสู่อาการวิปลาสทางประสาท สภาพการณ์ที่สำคัญๆ ของการอบรมเลี้ยงดู ได้แก่ สภาพการณ์แรกคือ สภาพการณ์ของการให้อาหาร ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับบรรยากาศ วิธีการ และแบบแผนของการให้อาหาร บรรยากาศและวีการ ตลอดทั้งแบบแผนของการให้อาหารเร่งรีบ เข้มงวด ไม่เชื้อเชิญให้รับประทานอาหาร อาจจะทำให้เด็กเรียนรู้การตอบสนองที่นำไปสู่การเป็นผู้มุมมองโลกในแง่ร้าย ไม่ยินดียินร้าย หวาดกลัว ฯลฯ ซึ่งอาจนำสู่ความไม่เป็นมิตรกับบุคคลอื่น หรืออาจจะทำให้บุคคลนั้นกลัวที่จะอยู่คนเดียว ทำให้เป็นภาระแก่สังคมมากขึ้น สภาพการณ์ที่สองคือ การฝึกความสะอาด หากการฝึกความสะอาดนั้นเข้มงวด โดยมิได้คำนึงถึงวุฒิภาวะของเด็ก ก็มักจะเร้าความรู้สึกต่อต้านที่รุนแรงในตัวเด็ก เช่นความรู้สึกอยากจะขัดขืน ดื้อดึง กลัว โกรธ หรือหากขัดขืนไม่ไหวก็มักจะยอมตาม ฯลฯ ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ จะนำไปสู้ความวิตกกังวล หรือพฤติกรรมยอมตาม ฯลฯ เกิดความรู้สึกไม่มีค่า ฯลฯ สภาพการณ์ที่สามคือ การฝึกการปรับตัวทางเพศหากบิดามารดาไม่เข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศของเด็ก เด็กอาจเกิดความรู้สึกว่าเพศเป็นเรื่องต้องห้าม เกิดความวิตกกังวลในเรื่องเพศ ฯลฯ และสภาพการณ์ที่สี่คือ การฝึกปฏิบัติตนเมื่อมีความคับข้องใจ ความขัดแย้งในใจ ความโกรธ การที่เด็กไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูในการปฏิบัติตนอย่างอย่างเหมาะสม เมื่อเด็กเผชิญต่ออุปสรรค การขัดแย้งกันระหว่างพี่น้อง ประกอบทั้งในสภาพที่เด็กยังช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะเด็กยังมีความสามารถอยู่ในขอบเขตจำกัด อาจจะทำให้เกิดเกิดความโกรธ และหากสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยที่จะช่วยให้เด็กปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม เมื่อมีความโกรธหรือต่อความโกรธของตน เด็กอาจจะเก็บกดความโกรธ หรือเกิดมีความขัดแย้งในใจระหว่างความโกรธและความวิตกกังวล ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่บุคลิกภาพที่เก็บกดมากเกินไปของเด็กได้ จากเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ และ มิลเลอร์ สรุปเกี่ยวกับลักษณะของบุคคลที่มีพฤติกรรมวิปลาสทางประสาท ไว้ว่า เป็นบุคคลที่มีความขัดแย้งระหว่างแรงขับต่างๆ เช่น แรงขับทางเพศ ความก้าวร้าว ความขัดแย้งในใจ ความคับข้องใจ และ ความกลัวอย่างรุนแรง ฯลฯ หากแรงขับต่างๆไม่ได้รับการตอบสนอง จะทำให้บุคคลนั้นมีแรงขับเหล่านี้สูงและเรื้อรัง ทำให้เกิดความทุกใจ อีกทั้งอาจผลักดัน ให้บุคคลแสดงพฤติกรรมที่นำไปสู่ความกลัว และบุคคลนั้นอาจจะตอบสนองสภาพการณ์นั้นด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะแสดงพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลให้พฤติกรรมไม่ได้ไปสู่เป้าหมาย แต่ช่วยลดความกลัว ซึ่งกลายเป็นการเสริมแรงการตอบสนองแบบนี้ แต่บุคคลบางคนอาจจะใช้การเก็บกดเป็นการตอบสนองโดยอัตโนมัติ เช่น ไม่คิด ไม่แสดงออก ไม่เข่าร่วม ฯลฯ การตอบสนองด้วยวิธีการต่างๆดังกล่าวนี้ จะเป็นการขัดขวางความคิด การตระหนักในเหตุผลทำให้บุคคลนั้นๆมีวิธีคิดที่ไม่ฉลาด นอกจากนี้ บุคคลที่มีอาการทางประสาท ยังมีความสามารถน้อยในการเผชิญความขัดแย้งในใจ หรืออาจจะถูกจูงใจให้แสดงการตอบโต้พฤติกรรมวิปลาสทางประสาทได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น

รองศาสตราจารย์ ดร. ผ่องพรรณ เกิดพิทักษ์. สุขภาพจิตเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: บัณฑิตการพิมพ์,2530.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น